เป็นหน้าที่อีกหนึ่งอย่างสำหรับผู้มีรายได้ทุกคน คือการเสียภาษีเงินได้ให้กับรัฐบาล ซึ่งโดยปกติแล้วต้องยื่นแบบภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด. 91 ภายในวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี แต่ถ้าเรารู้จักวางแผนภาษีให้ดี เราก็สามารถนำค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มาลดหย่อนภาษีได้ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีอยู่หลายช่องทางด้วยกันที่อาจช่วยให้คุณได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้อย่างเต็มที่ ซึ่งตัวอย่างค่าใช้จ่ายทีสามารถนำมาลดหย่อนทางภาษี มีดังนี้
1. เงินสมทบกองทุนประกันสังคม
พนักงานบริษัทหรือลูกจ้างในระบบประกันสังคม จะถูกหักเงินเพื่อสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งใน 1 ปีจะสามารถนำยอดที่สมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาใช้ในการลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 9,000 บาทต่อปี
2. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)
หากบริษัทของคุณมีการหักเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพทุก ๆ เดือน นอกจากผลตอบแทนจากการลงทุนที่จะได้รับแล้ว เงินสะสมดังกล่าวยังได้รับการลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 500,000 บาทสำหรับปีภาษีนั้น
3. เบี้ยประกันชีวิต
เงินที่คุณส่งค่าเบี้ยประกันชีวิตในแต่ละปี ตามกฎหมายแล้วสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึงปีละ 100,000 บาท สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีระยะเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป หลายคนอาจจะกลัวคนขายประกัน แต่ตอนนี้ทราบข้อดีของประกันชีวิตเพิ่มจากการคุ้มครองชีวิตและสุขภาพแล้ว ลองมองประกันด้วยมุมมองใหม่ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ
4. RMF
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นการซื้อหน่วยลงทุนระยะยาวสำหรับผู้ที่ต้องการเก็บเงินออมไว้ใช้ในยามเกษียณ เงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในการลงทุนที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เงินที่ใช้ในการซื้อหน่วยลงทุนประเภทนี้สามารถนำมาหักลดหย่อยภาษีได้สูงถึง 500,000 บาทต่อปี (เมื่อรวมกับเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยวชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน)
5. LTF
กองทุนรวมหุ้นระยะยาว เป็นการซื้อหน่วยลงทุนที่ผู้ลงทุนสามารถนำเงินที่ใช้ในการซื้อหน่วยลงทุนมาลดหย่อนภาษีได้เช่นเดียวกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ในอัตราสูงถึง 500,000 บาทต่อปี (ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน)
6. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในการซื้อที่อยู่อาศัย
ผู้ที่กู้ยืมเงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยสามารถหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี (กรณีที่ผู้มีเงินได้กู้ยิมคนเดียว)
7. เงินบริจาค
ใบอนุโมทนาบัตรจากการบริจาคเงินให้วัดสามารถนำมาลดหย่อนได้เต็มจำนวน แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้ของคุณหลังหักลดหย่อนภาษีตามกรณีต่าง ๆ แล้ว
เห็นไหมคะว่ามีช่องทางมากมายที่จะช่วยให้คุณได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างเต็มที่ เพียงคุณวางแผนให้ดี เลือกลงทุนหรือใช้จ่ายในเงื่อนไขที่ทำให้คุณสามารถนำค่าใช้จ่ายส่วนนั้นมาใช้ในการลดหย่อนภาษีได้
หมายเหตุ ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงข้อสรุปเบี้องต้นเท่านั้น สำหรับรายละเอียด หรือเงื่อนไขต่างๆ ของการใช้สิทธิในการหักลดหย่อน ภาษี กรุณาศึกษาเพิ่มเติมจากกฎระเบียบของกรมสรรพากร
(Credit: บทความจาก JobDB.com)